15 สิงหาคม 2551











แมวมาเลศ(สีสวาด)


วิลามาเลศพื้น พรรณกาย
ขนดังดอกเลาราย เรียบร้อย
โคนขนเมฆมอปลาย ปลอมเศวต
ตาดั่งน้ำค้างย้อย หยาดต้องสัตบง

แมวมาเลศ
เรียกอีกชื่อว่า แมวสีสวาด หรือ แมวดอกเลา เรียกชื่อตามถิ่นกำเนิดคือจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) ลำตัวมีสีขี้เถ้าหรือสีสวาด บางตัวอาจมีขาวแซมกลายเป็นสีดอกเลา (สีคล้ายเมฆก่อนฝนตก) ศีรษะจะออกเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่ และแบน มีคางและกรามที่แข็งแรง หูตั้ง หูใหญ่เด่นอยู่บนศีรษะ ในตัวผู้หน้าผากจะมีรอยหยักขัดเจน เป็นแมวที่แสดงออกถึงความเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เป็นแมวขนาดกลาง ขนสั้นสีสวาท (Silver Blue) นัยน์ตาสีเขียวสดใส เป็น ประกาย ขณะที่ยังเป็นลูกแมวอยู่ตาจะเป้นสีฟ้า เมื่อโตจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด และเมื่อโตเต็มที่ ตาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวใบไม้หรือสีเหลืองอำพัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ามีสีอื่นปะปนไม่ถือว่าเป็นพันธุ์แท้
แมวมาเลศเป็นหนึ่งในแมวมงคลที่เชื่อกันว่าจะให้โชคลาภแก่ผู้เลี้ยง ที่ชื่อว่าแมวสีสวาดเนื่องจากมีสีเหมือนเมล็ดของไม้เถาชนิดหนึ่งชื่อว่าต้น "สวาด" เชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปสีขนเป็นสีดั่งเมฆฝน เพราะนัยน์ตาสีเขียวหรือสีอำพันดั่งข้าวในนา ชาวบ้านที่มีอาชีพทำการเกษตรจึงมักใช้แมวสีสวาดนี้แห่เพื่อขอฝนยามที่ฝนแล้ง

แมว--การเลี้ยงฐานข้อมูล


นึกๆ ดูแล้ว สำนวนไทยเกี่ยวกับแมวนั้นก็มีเยอะแยะไม่ใช่เล่น ซึ่งก็น่าจะหมายความได้ว่า สัตว์สี่ขาตัวนุ่มนิ่มที่ชอบร้องเหมียวๆ กับคนไทยนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานแล้ว โดยเรื่องราวเกี่ยวกับแมวก็ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณว่ามีแมวประเภทใดบ้างเป็นแมวมงคล และแมวประเภทใดบ้างเป็นแมวอัปมงคล แสดงว่าแมวกับคนไทยเรานั้นผูกพันกันมายาวนานจริงๆแมวขาวมณี หรือขาวปลอด นัยน์ตาสองสี แห่งอุทยานแมวไทยโบราณและสำหรับฉัน ผู้ซึ่งถือคติ Love me love my cat ก็เคยได้ยินมาว่าที่อุทยานแมวไทยโบราณนี้ เขามีแมวน่ารักๆ อยู่หลายตัว ที่ไม่ธรรมดาก็คือแมวเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแมวขาวมณี แมวไทยโบราณสีขาวสะอาดทั้งตัว แถมยังพิเศษตรงที่นัยน์ตาทั้งสองข้างยังมีสีแตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นก็เลยพลาดไม่ได้ที่จะมาชมแมวเหมียวเหล่านี้ให้ถึงที่ แต่ก่อนอื่นฉันขอเท้าความถึงแมวขาวมณีก่อนดีกว่าว่า แมวขาวมณีหรือที่เรียกว่าขาวปลอดนั้น เป็นแมวไทยที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในสมุดข่อยโบราณ เพราะเพิ่งจะเป็นที่รู้จักก็กันเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมานี้เอง แต่ก็ถือว่าเป็นแมวไทยโบราณหนึ่งในห้าพันธุ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่ แมววิเชียรมาศ แมวสีสวาด แมวศุภลักษณ์ แมวโกญจา และแมวขาวมณี เจ้าแมวขาวมณีนี้มีลักษณะเด่นก็คือจะมีขนสั้นสีขาวตลอดหัวจดหาง ไม่มีสีอื่นมาแซมเลย และหากเป็นสายพันธุ์แท้ดวงตาทั้งสองข้างก็จะมีสีที่แตกต่างกัน เช่นข้างหนึ่งเป็นสีเหลือง หรือบางตัวก็อาจเป็นสีน้ำตาล และอีกข้างหนึ่งเป็นสีฟ้าหรือสีขาว สวยงามมาก และสำหรับแมวขาวมณีนี้ ถือว่าเป็นแมวทรงเลี้ยงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดและทรงหวงมากๆ พระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสเป็นผู้ดูแลและขยายพันธุ์ หน้าที่นี้สืบทอดจนมาถึงพระธิดาของพระองค์ คือหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงอาภากร ก่อนที่แมวขาวมณีที่เหลืออยู่ทั้งหมด 18 ตัวจะตกมาอยู่ในความดูแลของ นำดี วิตตะ เด็กชายที่หม่อมเจ้าหญิงได้อุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก และก็ได้ดูแลแมวขาวมณีเหล่านี้มาตลอด จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งอุทยานแมวไทยโบราณ (นัยน์ตาสองสี) ที่ฉันได้มาชมในวันนี้ ดังนั้น แมวขาวมณีในอุทยานแมวฯ แห่งนี้จึงเป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 5 คุณนำดีจึงเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี และไม่เคยขายเจ้าขาวมณีพันธุ์แท้เหล่านี้เลยสักตัว อุทยานแมวไทยโบราณริมคลองทวีวัฒนาในวันธรรมดาที่ฉันเข้าไปชมดูเงียบเชียบไร้ผู้คน แต่ก็ยังได้ยินเสียงแมวดังแง้วๆ แว่วๆ อยู่ด้านบนบ้านหลังใหญ่ใต้ถุนสูง เมื่อฉันขึ้นไปด้านบน จ่ายเงินค่าเข้าชมและช่วยค่าอาหารแมวไป 50 บาท แล้ว ฉันก็ได้พบกับบรรดาเหมียวๆ อ้วนท้วนสีขาวสะอาด นัยน์ตาสองสีที่ชื่อพันธุ์ขาวมณีเหล่านั้นอยู่ภายในห้องกว้างค่อนข้างโล่งที่มีกรงแมวขนาดไม่ใหญ่นักวางเรียงกันอยู่ 3-4 แถว และในแต่ละกรงก็มีแมวขาวมณีอยู่กรงละหนึ่งตัว นับรวมแล้วก็ได้ 14 ตัวพอดี ผู้ดูแลท่าทางใจดีเข้ามาคุยกับฉันว่า ไม่ค่อยจะได้เห็นนักท่องเที่ยวมาในวันธรรมดามากนัก ส่วนมากจะมากันวันเสาร์อาทิตย์มากกว่า จากนั้นก็เริ่มเล่ารายละเอียดที่อุทยานแมวฯ นี้ให้ฟังว่า จริงๆ แล้วที่อุทยานแมวโบราณนี้มีแมวขาวมณีอยู่ทั้งหมด 44 ตัว แต่เอามาจัดแสดงไว้เพียง 14 ตัว โดยในแต่ละวันก็จะสลับกันออกมาโชว์ตัว ตัวไหนโชว์อยู่นานแล้วก็จะเข้าห้องไปพัก ปล่อยให้เพื่อนแมวตัวอื่นๆ ได้ออกมารับแขกบ้าง
ในตอนแรกฉันเองก็เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้อุ้มหรือเล่นกับเจ้าแมวพวกนี้อย่างเต็มที่ เพราะมีกรงกั้นระหว่างฉันกับแมว แต่เมื่อฟังที่พี่คนดูแลแมวบอกว่า เมื่อก่อนนี้ ก่อนที่อุทยานแมวโบราณจะย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปัจจุบันนั้น ก็ยังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้อุ้มได้กอด แต่ปรากฏว่า แมวเหล่านั้นเฉามือคน แถมบางตัวยังติดโรคจากคนโดยการเลียหรือสัมผัสจนตายไปหลายตัว ในปัจจุบันก็เลยทำกรงไว้ให้แมวแต่ละตัวได้อยู่กัน ดังนั้นแม้จะเสียดาย แต่คิดอีกทีทำแบบนี้ก็น่าจะเป็นการดีกว่า เพราะลองคิดดูสิว่า หากวันไหนนักท่องเที่ยวมากันเยอะๆ แมวที่โดนอุ้มโดนกอดโดยคนไม่รู้จักไม่คุ้นเคยแถมโดนอุ้มเป็นสิบๆ ครั้งก็น่าจะเหนื่อยไปเหมือนกัน แถมเสียสุขภาพจิตอีกต่างหาก
บรรยากาศภายในอุทยานแมวไทยโบราณ กรงแมวที่ฉันเห็นนี้แม้จะไม่เล็กมากขนาดที่ทำให้แมวอึดอัด แต่ก็ไม่ได้กว้างขวางขนาดที่จะสามารถวิ่งเล่นได้สบายๆ ด้วยความเป็นห่วงกลัวแมวจะไม่ได้ออกกำลังกาย ฉันจึงถามพี่ผู้ดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งก็หมดกังวลได้ เพราะพี่เขาบอกว่า หลังจากที่อุทยานแมวฯ ปิดให้บริการในแต่ละวันแล้ว ประมาณห้าโมงเย็น แมวเหล่านี้ก็จะได้ไปวิ่งเล่นในสนามหลังบ้าน วิ่งไล่กันหรือปีนป่ายต้นไม้ไปตามเรื่อง แมวที่นี่จึงมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พี่คนดูแลแมวยังบอกกับฉันอีกว่า ด้วยความที่แมวเหมียวขาวมณีเหล่านี้เป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวของรัชกาลที่ 5 คุณนำดี ผู้เป็นเจ้าของจึงตั้งชื่อว่า "เจ้า" นำหน้าทุกตัว ทั้งเจ้าฟ้าเงินฟ้าทอง เจ้าเปรียว และอีกมากมายหลายเจ้า อย่างที่ฉันบอกไปแล้วว่าบรรพบุรุษของแมวเหล่านี้เคยเป็นแมวของพระมหากษัตริย์ และไม่มีการขายแมวขาวมณีสายพันธุ์แท้ คุณนำดีผู้ก่อตั้งอุทยานแมวฯ จึงถวายแมวเหล่านี้ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ก็โปรดให้แมวเหล่านี้อยู่ที่อุทยานแมวฯ เพื่อให้ประชาชนได้ชมกันต่อไป ฉันเดินเล่นทักทายเจ้าเหมียวขาวมณีจนครบทุกตัว บางตัวเอาแต่นอนหลับอุตุไม่สนใจฉันเลย แถมบางตัวไม่อยากเห็นหน้าผู้คนก็เลยเอาหัวมุดใต้ที่นอนซะอย่างนั้น แต่แมวตัวอื่นๆ นั้นขี้เล่นและขี้อ้อนน่าดู แม้จะเล่นกันผ่านกรงก็เถอะ ฉันเห็นแล้วก็อยากจับมากอดแรงๆ สักที นอกจากจะได้มารู้จักกับแมวขาวมณีและได้มาชมแมวเหมียวที่แสนจะน่ารักแล้ว การที่ได้มาเยี่ยมชมอุทยานแมวฯ ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่า น่าดีใจที่แมวพันธุ์ไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเรายังมีผู้ที่ตั้งใจอนุรักษ์ไว้ เพราะฉะนั้นฉันขอเชิญชวนบรรดาคนรักแมวทั้งหลายให้แวะมาเยี่ยมเยียนเหมียวๆ เหล่านี้กันบ้าง รับรองว่าต้องหลงเสน่ห์แมวขาวมณีแน่นอน




ไม่มีความคิดเห็น: